บ้านเชียง เมียงๆ สะเทิน

ในขณะที่นั่งละเลียดกาแฟหอมกรุ่น ระหว่างรอล้างรถ เสียงเตือนจากแอปพลิเคชั่นไลน์ก็ดังขึ้นจาก บล็อกเกอร์ชายสามหยด ข้อความทางไลน์พิมพ์ส่งมาชวนเที่ยว อุดรธานี ทีแรกก็ว่าจะปฏิเสธไป เพราะว่าชั่วชีวิตการเดินทางตัวเอง ไปอุดรฯ บ่อยมาก ปีหนึ่งๆ น่าจะเกิน 10 ครั้งด้วยซ้ำ

แต่พอข้อความอีกชุดถูกส่งมา ว่าจะไป บ้านเชียง ทำให้ผมสะดุดความคิดในหัวตัวเอง รำพึงในใจ...อืมม... บ้านเชียง ไอ้ตัวเราก็มาทำนู่นนี่นั่นที่ อุดรฯ โคตรบ่อยเลยนะ แต่ยังไม่เคยได้ไปเฉียด บ้านเชียง เลยซักครั้ง ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามีแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมเก่าแก่ที่มีคุณค่าอยู่ที่ จ.อุดรธานี สมัยยังเด็ก ถ้าได้ยินใครเอ่ยถึง จ.อุดรธานี ก็ต้องนึกถึง บ้านเชียง ก่อนเลย ในทางกลับกัน ถ้าพูดถึง บ้านเชียง ก็ต้องนึกถึง จ.อุดรธานี เช่นกัน แล้วทำไม? ทำไม???? บ้านเชียง ถึงได้ถูกลืมและหายเงียบไปจากแหล่งท่องเที่ยวดีๆ ของไทย ทำไม? ทำไม? ทำไม? เครื่องหมายคำถามผุดขึ้นเต็มหัวสมองไปหมด แต่ความรู้สึกอยากหาเรื่องเที่ยวก็ตอบข้อสงสัยในใจตัวเอง ถ้าอยากรู้คำตอบก็ต้องไปสัมผัสดูเองสิ!!! จะได้หายข้องใจ ก็เลยตกปากรับคำ ชายสามหยด ไปแบบ งง งง
.
.
คุณอรนุช ผการัตน์(พี่ตุ่ย) ผู้บริหารจากบริษัท อินทรา แม่โขง ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ทางอีเมล์ ด้วยความที่พี่ตุ่ยเติบโตที่ บ้านเชียง อุดรธานี มีจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดเต็มเปี่ยม เลยอยากจะทำสิ่งดีๆ ให้ถิ่นกำเนิดตัวเอง พี่ตุ่ยก็คงเกิดความตระหนักเหมือนผม ว่าทำไมอยู่ดีๆ แหล่งท่องเที่ยวดีๆ อย่าง บ้านเชียง ถึงได้เงียบเหงาลงไป คนมาเที่ยว อุดรธานี ก็ไปแต่ ทะเลบัวแดง คำชะโนดและวัดป่าภูก้อน แต่ไม่ค่อยจะมีใครนึกถึง บ้านเชียง จะมีก็แต่นักท่องเที่ยวที่หาที่พักไม่ได้และล้นมาจาก คำชะโนด แค่นั้น มาก็แค่นอน ตื่นนอนแล้วก็ไป ไม่ได้อยู่เที่ยว บ้านเชียง แบบเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่ควรจะเป็น
.
คุณอรนุช ผการัตย์(พี่ตุ่ย) ขอขอบคุณภาพจากบล็อกเกอร์ลุงตุ่ย
.
พี่ตุ่ยมารอรับที่สนามบินแต่เช้า พอขึ้นรถตู้ก็แจกแจงหน้าที่ของผมในการเดินครั้งนี้ให้ฟัง "พี่อยากให้ บ้านเชียง กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังเช่นในอดีต อยากให้คนที่มาเที่ยว อุดรธานี นึกถึง บ้านเชียง และอยากมาเที่ยว ไม่ใช่แค่ มาเที่ยวอุดรฯ นอนบ้านเชียง แต่พี่อยากให้ นักท่องเที่ยวมานอนบ้านเชียงเที่ยวบ้านเชียง พวกน้องๆ เป็นบล็อกเกอร์ที่เขียนรีวิวเรื่องท่องเที่ยวอยู่แล้ว คงพอจะช่วยพี่ในจุดนี้ได้บ้าง เผื่อว่าพวกน้องจะกลับไปเล่าเรื่องเผยแพร่เรื่องราวของบ้านเชียงให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้" นี่คือคำปรารภที่พี่ตุ่ยได้บอกกับผม ผมนิ่งฟัง แต่ในใจก็ตอบพี่ตุ่ยไปแล้ว "ถ้าพี่ไว้วางใจผม ผมก็จะทำให้พี่อย่างสุดความสามารถแหละครับให้สมกับที่พี่เชื่อมั่นในฝีมือผม"
.
ขอบคุณภาพจากบล็อกเกอร์ลุงตุ่ย
.
จากการที่ได้เดินเที่ยวอยู่ใน บ้านเชียง 1 วัน 1 คืน รู้สึกเหมือนตัวเองถูกพาย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายพันปีก่อน มันเหมือนเห็นภาพการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วใน หลาย ๆ ด้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของคนยุคนั้น ถูกค้นพบโดยคนยุคนี้ ก่อให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ตามมามากมาย การสร้างสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ในยุคนั้น โดยเฉพาะด้าน ความรู้ ความสามารถ ภูมิปัญญา จึงถูกหลอมรวมเป็นองค์ความรู้และถ่ายทอดสืบเนื่องต่อกันมารุ่นต่อรุ่น จนกลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมและการดำเนินวิถึชีวิตของชาวบ้านที่นี่จนถึงทุกวันนี้ นี่คือเสน่ห์ของ บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี

.
.
บ้านเชียง ยังมีหลักฐานอ้างอิงถึงการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นของมนุษย์มาหลายพันปี แหล่งโบราณคดีสำคัญ ที่เต็มไปด้วย หม้อไหดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของคนยุคนั้นเป็นประจักษ์พยาน นับเป็นเรื่องราวความทรงจำที่มีคุณค่าต่อผืนแผ่นดินไทย ครอบคลุมไปถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง คณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก (Unesco) จึงมีมติยอมรับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ให้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกอันดับที่ 359 เมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2535 ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีอันดับที่ 4 ของประเทศไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
.
.
.
ทันทีที่ถึง บ้านเชียง ช่วงสายๆ ผมก็ได้เข้าร่วมขบวนกฐินชาวบ้านเชียง แม้ร่างกายจะล้าจากการเดินทางแต่เช้าตรู่และยังต้องผจญกับแสงแดดที่แรงจัดของบ้านเชียง แต่ภาพธรรมชาติที่ปรากฎเบื้องหน้าก็ทำให้ผ่อนคลายลงได้ ลมพัดเอื่อยๆ ท่ามกลางทุ่งนาที่มองไปได้ไกลสุดตา ปลายยอดรวงข้าวเหลืองทอง ลู่โอนเอนไหวไปมายามต้องลม หมู่แมลง โผบินวนตอมดอกไม้ จากดอกนี้ ไปดอกนั้น จากดอกนั้น ไปดอกโน้น เสียงมโหรีจากรถเครื่องเสียงดังมาจากขบวนกฐิน พ่อๆ แม่ๆ เริ่มตั้งขบวนแห่กฐิน เป็นภาพวัฒนธรรมทางศาสนาที่ดูเรียบง่ายแต่งดงาม 

ผมนั่งหลบแดดใต้ร่มไม้ มองขบวนแห่กองกฐินที่กำลังจะผ่านมา แล้วค่อยเก็บภาพ เห็นเหล่าพ่อใหญ่ ถือไม้กวาดเคลียฝุ่นให้พ้นทางพอเป็นพิธี แม่ๆ ในชุดพื้นบ้านไทยพวนฟ้อนรำตาม ใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความอิ่มบุญของบรรดาพ่อใหญ่ ท่วงท่าฟ้อนรำที่งดงามและพร้อมเพียงของบรรดาแม่ๆ เห็นรอยยิ้มอิ่มบุญท่ามกลางแดดแรงของพ่อแม่พี่น้องชาวบ้านเชียง ทำให้ผมต้องรีบสลัดความเหนื่อยล้าทิ้งไป ขยับหมวกให้แน่นกระชับกะบาลสวมแว่นกันแดดคู่ใจ รีบเดินออกจากร่มไม้มาเก็บภาพวิถีที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ แม้ความแรงของแดดจะเล่นงานจนแสบหนังหน้าอันขี้เหร่สุดๆ ของผมก็ตาม
.
.
.
.
.
เสร็จจากกฐิน ถูกเรียกขึ้นรถตู้ เพื่อเดินทางไปยังเป้าหมายต่อ พอถึงจุดหมายถึงได้รู้ว่า บ้านเชียง ยังมีวัดสวย เงียบสงบ อีกหลายแห่ง นอกจากวัดโพธิศรีใน ที่มีแหล่งค้นพบโบราณวัตถุแล้ว ยังมีวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องความแปลกและสวยงามอยู่อีกแห่ง วัดสันติวนาราม ตั้งอยู่ หมู่ 11 ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี  พอก้าวขาลงจากรถจะไม่ได้ยินเสียงพวกมือถือไมค์ป่าวประกาศเรียกร้องให้ทำบุญจนเสียอารมณ์ วัดนี้ สงบ ร่มรืน อุโบสถทรงดอกบัวสีขาวบริสุทธิ์ ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางน้ำ ดูขลัง สงบ ที่สำคัญ เด่นสง่าสวยงาม ทั้งภายใน ภายนอก เห็นเค้าเล่ามาว่า เป็นพระอุโบสถ แห่งเดียวในไทยที่สร้างเป็นรูปดอกบัวอยู่กลางน้ำแบบนี้
.
.
.
.
.

จากการใช้ชีวิตแบบ slow living อยู่ บ้านเชียง สิ่งที่ผมสัมผัสได้ ที่นี่เป็นเมืองน่ารักและดูถ่อมตนอยู่ในที่ตั้ง มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ มีคุณค่าในตัวเองอย่างหยั่งรากลึก มีวิถีชีวิตไม่เร่งรีบ มีแหล่งอาหารคุณภาพ มีวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารระดับพรีเมี่ยม อร่อย ราคาไม่แพง มีแหล่งธรรมชาติที่เป็นพลังใจรอบเมืองโดยไม่ต้องแก่งแย่งกับใคร มีวิถีดำรงชีพชาวไทพวนให้ชม ทอผ้า ย้อมคราม ทำเครื่องจักสาน ทำไวน์พื้นถิ่น แต่ถ้าอยากชมอย่างได้อรรถรส ทางชุมชนก็มี Ambassador Banchiang เป็นไกด์คอยบรรยายและพาเที่ยวชม มีทั้ง ยุวชนวัยเด็กน้อยน่ารัก จนถึง วัยสาวสวยใสผู้ใหญ่ชอบ
.
.
ที่พัก โฮมสเตย์ เฮือนโบราณสไตล์ไทพวนแท้ๆ ก็มีให้เลือกพักมากมายหลายหลัง ทุกหลังสะดวกสบาย เจ้าของบ้านน่ารักจิตใจโอบอ้อมอารีย์อยู่ในโลเคชั่นที่ยอดเยี่ยม นอนหลับได้อย่างเป็นสุข จะลุกจะนั่งก็สบาย อยากขับถ่ายกลางค่ำกลางคืนก็แสนสะดวก รองรับนักท่องเที่ยวได้ร่วม 200 คน/วัน 

นี่เป็นจุดแข็งของ บ้านเชียง ที่นำไปต่อยอดเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เลย แต่ทำไมนักท่องเที่ยวถึงไม่รู้และไม่เห็นภาพเหล่านี้ ภาพที่ถูกมองจากภายนอก อาจทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นใจว่ามาเที่ยว บ้านเชียง แล้วจะได้ซึมซับอะไรให้เกิดเป็นความประทับใจกลับไปบ้าง นอกจากมาเดินชมพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ดูหม้อ ดูไห เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ แล้วจบเดินไม่ถึงครึ่งวันก็หมดแล้ว ปัญหาเหล่านี้คงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ ให้พี่ตุ่ยและผู้นำชุมชนบ้านเชียงได้ร่วมมือวางแผนกันอย่างหนักแน่ บอกตรงๆ ผมเห็นแล้วเหนื่อยแทนเลย
.
.
.
.
.
.
ถนนสายหน้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง มีพื้นที่กว้างเป็นแนวยาว ชาวบ้านในพื้นที่จึงเปิดร้านจำหน่ายของที่ระลึกต่างๆ แทบทุกหลังคาเรือน เครื่องปั้นดินเผา บ้านเชียง ที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์รู้จักกันไปทั่วโลกจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของ จ.อุดรธานี 
.
.
ผมได้เดินชม พิพิธภัณฑ์ไทพวนบ้านเชียง ได้เห็นการสาธิตวิธี ปั้นเป็นหม้อ ก่อเป็นไห ลงสีลวดลาย เท่าที่สังเกตเห็น ไหหม้อ ใหม่ ทั้งใหญ่ทั้งเล็กที่นี่เค้ามีวางขาย แต่ถ้าเป็น หม้อไห เก่าที่นี่ก็จะเก็บเข้ากรุไม่นำออกมาขาย ผ้าซิ่น ผ้าทอ ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋า ผ้าย้อมคราม เครื่องจักสาน ก็มีวางจำหน่าย เส้นสายลวดลายบนหม้อไหและลายผ้าซิ่นล้วนมีอัตตลักษณ์ที่ถูกต่อยอดมาจากอารยธรรมเก่าแก่และวิถีชีวิตของถิ่นที่นี่ทั้งสิ้น นักเลงผ้าซิ่น นักสะสมผ้าไทยทอมือ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ผมนี่ยังโมโหตัวเองเลย มัวแต่เดินตามสาวถ่ายภาพ หลงชอบกระเป๋าผ้าตั้งแต่แรกพบ อุตส่าห์เล็งไว้ ลืมเฉยเลย
.
.
.
.
.

อารยธรรมบ้านเชียง ร้อยเรียงล้ำค่า ภูมิปัญญาไทพวน ทุกวันเสาร์ ที่นี่จะมีงาน ถนนสายวัฒนธรรม ถนนคนเดินบ้านเชียง พี่น้องไทพวน บ้านเชียง ทุกคนพร้อมต้อนรับ นักท่องเที่ยว นักเดินทาง ทั้งไทยและเทศทุกท่าน ด้วยรอยยิ้ม ถ้าคุณมาเที่ยวมานอนแบบที่ผมได้มา คุณจะมีความประทับใจและสนุกสนานเพลิดเพลินแน่นอน ชุมชนบ้านเชียงเค้าตื่นตัวและพร้อมแล้ว คุณล่ะ? พร้อมมั๊ย? ถ้าพร้อม...ก็ออกเดินทางไปเที่ยวบ้านเชียงกันนะ 
.

.
การเดินทางมาท่องเที่ยวบ้านเชียง
จากตัวเมืองอุดรธานี ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 22 (สายอุดรธานี – สกลนคร) เมื่อถึงปากทางเข้าบ้านปูลู บริเวณกิโลเมตรที่ 50 จะพบป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ ให้เลี้ยวเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร

กราบขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมกันนะครับ
มารบูรพา หาเรื่องเที่ยว : Facebook
ไอ้เสือน้อย : Oknation Blog

ขอให้ทุกท่านท่องเที่ยวอย่างมีความสุขและสนุกกับการถ่ายภาพนะครับ
กราบสวัสดีทุกๆ ท่านครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บ้านสามช่องเหนือ เขเรืออ่าวพังงา ชมภูผาอันดามัน

ทุ่งหยีเพ็ง ล่องเรือโบราณ ทานข้าวกับชาวบ้าน

เกาะโหลน วิถีสงบเรียบง่ายที่ซ่อนตัวภายใต้เมืองท่องเที่ยวใหญ่ ภูเก็ต